บรรยากาศเมืองนครสวรรค์
เมื่อถึงวันตรุษจีน

เมื่อถึงวัน “ตรุษจีน”

วันตรุษจีน ก็คือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ซึ่งถ้าหากนับวันตามปฏิทินจีนก็จะเป็นวันที่ 1 เดือน 1 คล้ายกับวันขึ้นปีใหม่เดิมของไทย คือเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลอง การพบปะสังสรรค์ในหมู่ญาติพี่น้อง พร้อมกับมีประเพณีในการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไหว้เจ้าในช่วงปีใหม่นี้ การไหว้เจ้านี้ได้สืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคนนับเป็นพันปีมาแล้ว ซึ่งก็พอสันนิษฐานได้ว่า ในช่วงปีใหม่ของหลายชนชาติส่วนใหญ่จะมีขึ้นเมื่อได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว และกำลังจะเตรียมเข้าสู่การเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นเรื่องของการขอบคุณต่อเทพยาดาฟ้าดิน บรรพบุรุษ ตลอดจนขอให้โชคดีในการเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า

ในกาลปัจจุบันเมื่อถึงตรุษจีนคนส่วนใหญ่จะนึกถึงการเฉลิมฉลอง การพักผ่อน ท่องเที่ยว เพื่อเป็นรางวัล และให้กำลังใจที่จะมานะอดทนในการประกอบกิจ ทั้งทางเกษตรกรรมและทางการค้าเพื่อให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

พูดถึงบรรยากาศของเทศกาลตรุษจีน ของชาวเมืองนครสวรรค์ เมื่อใกล้จะถึงวันตรุษจีน ชาวบ้านร้านค้าเกือบทุกครัวเรือนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ทั้งการเก็บกวาดสิ่งปฏิกูล หยากไย่แมงมุม รวมถึงการทาสีประตู อาคาร หรือหน้าร้านใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้บ้านเมืองสะอาดตา และทำให้เกิดความสดใสขึ้นทั้งเมือง ในช่วงระยะเวลานี้บรรดาร้านค้าก็จะซื้อ”เต็งลั้ง”(โคมไฟสีแดง)หนึ่งคู่จากคณะกรรมการจัดงาน ที่ปลุกเสกแล้วาประดับไว้หน้าร้านค้า ติดไฟสว่างไสวไปทั่วทั้งเมือง บรรยากาศของเทศกาลตรุษจีนแบบนี้พอใครผ่านไปมาก็จะทราบทันทีว่าเมืองนี้คงจะมีการเฉลิมฉลองใหญ่ และในระหว่างนี้คณะกรรมการจัดงานเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ (งานตรุษจีนประจำปี) ก็จะอัญเชิญเทพเจ้าฯ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มาตั้งเป็นศาลเจ้าชั่วคราวไว้ที่บริเวณถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา (บริเวณจุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา) ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวจีน ก็จะเริ่มมาไหว้สักการะได้ทุกวันตลอดงาน เพื่อก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัวและครอบครัว บางคนเห็นศาลเจ้าเหล่านี้แล้วอยากเข้าไปไหว้เจ้า แต่ก็กลัวจะทำไม่ถูกพิธี ซึ่งอันที่จริงการไหว้เจ้าขอเพียงมีความรู้สึกที่ดีก็จะบรรลุผลที่จะทำ เพื่อให้จิตใจสงบมีความคิดคำนึงถึงแต่สิ่งดีๆ ท่านก็จะได้ “ความเป็นมงคล” แต่ตัวท่านแล้ว การไหว้เจ้านั้นเดี๋ยวนี้ผู้จัดงานก็ได้เขียนป้ายแนะนำการไหว้เจ้าไว้ให้ที่หน้าศาลเจ้า ก็พอสรุปได้ดังนี้

การไหว้เจ้า

การจุดเทียน

       เทียน 1 คู่       จุดบูชาเทพยาดา ฟ้า ดิน ซึ่งจัดตั้งอยู่กลางแจ้งหน้าศาลเจ้า

       เทียน 1 คู่       จุดบูชาเทพเจ้าในศาลเจ้า

การจุดธูป

  1. ไหว้เทพยาดา ฟ้า ดิน ซึ่งจัดตั้งอยู่กลางแจ้งหน้าศาลเจ้า มีกระถางธูปอยู่ 3 กระถาง ปักธูป
  2. กระถางละ 3 ดอก

  3. ไหว้เทพเจ้าในศาลเจ้า จะไหว้เทพประธานที่อยู่กึ่งกลางก่อนแล้วจึงไหว้เทพที่อยู่เบื้องซ้ายของ
  4. เทพประธานและขวาตามลำดับ จะมีกระถางธูปตามองค์เทพ ปักธูปกระถางละ 3 ดอก

  5. ไหว้พระภูมิเจ้าที่ในศาลเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ที่มุม บนพื้นในศาล ปักธูปกระถางเดียว 5 ดอก
  6. ไหว้เทพผู้อารักขาประตูทางเข้าศาลเจ้า ธูปจำนวน 2 ดอก นำไปปักไว้ตรงประตูทางเข้าด้านซ้ายและด้านขวา

ศาลเจ้าได้จัดธูปเทียนไว้ให้ตามจำนวนที่ใช้ เมื่อเข้าไปไหว้จะมีตู้รับบริจาคค่าธูปเทียนท่านจะบริจาคได้ตามกำลัง และศรัทธาเพื่อเป็นสิริมงคล และความเจริญรุ่งเรืองของท่านและครอบครัว

ชาวนครสวรรค์นั้น นอกจากจะเตรียมบ้านเมืองเตรียมใจไว้เฉลิมฉลองแล้วยังมีการถือปฏิบัติในวันต่าง ๆ ซึ่งพอจะแยกได้ดังนี้

วันจ่าย คือวันที่จะทำการซื้อของไหว้จำพวก เป็ด ไก่ หมู ผลไม้และของใช้ต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับไหว้ในพิธีต่างๆ ในช่วงตรุษจีน สาเหตุเพราะว่าถ้าถึงวันตรุษจีนแล้ว บรรดาร้านค้าก็จะทำการปิดกิจการชั่วคราวทำให้หาซื้อข้าวของลำบาก วันจ่ายจะตรงกับวันก่อนสิ้นปีหนึ่งวัน วันตรุษจีนปีนี้จะตรงกับวันที่ 24 มกราคม 2544 วันจ่ายจึงตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2544

วันไหว้ คือวันที่ทำพิธีไหว้ ซึ่งจะไหว้ในวันสิ้นปี คือวันที่ 23 มกราคม 2544 เริ่มจากในตอนเช้าจะทำการไหว้เทพยาดา ฟ้า ดิน และไหว้เจ้าที่ โดยตั้งโต๊ะไหว้เตรียมของไหว้ ซาแซ เช่น เป็ด หมู ไก่ พอประมาณเวลา 9.00 น. ก็จะไหว้บรรพบุรุษ ต่อมาก็ไหว้ผีไม่มีญาติ “ฮอเฮียตี๋” ในเวลาประมาณ 11.00 – 13.00 น. แต่การไหว้ผีไม่มีญาติบางบ้านก็ไหว้เป็นปกติทุกปี บางบ้านก็ไม่นิยมไหว้

วันถือ ซึ่งจะตรงกับวันตรุษจีนซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 24 มกราคม 2544 ในวันนี้ทุกคนจะพูดและทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล ไม่พูดว่ากล่าว หรือ พูดคำหยาบต่อกัน จะถือเรื่องการไม่กวาดบ้านในวันนี้ ในวันถือนี้จะถือเป็นวันเที่ยวด้วย

ช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนของชาวนครสวรรค์ บรรดาร้านค้าก็จะหยุดกิจการชั่วคราว (เหมือนวันหยุดประจำปี) ตั้งแต่วันตรุษจีนไปอีก 2-3 วัน ช่วงที่เป็นวันถือหรือวันเที่ยวนั้นก็จะมีธรรมเนียมการให้เงินแต๊ะเอียหรืออั๊งเปา(ซองแดง) คือผู้ใหญ่จะให้เงินแต๊ะเอียแก่ลูกหลาน หรือลูกหลานที่ทำงานแล้วก็ให้แต๊ะเอียแก่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ ส่วนนายจ้างที่ให้แต๊ะเอียแก่ลูกจ้าง หรือพนักงานนั้นส่วนใหญ่จะให้เสมือนกับเงินโบนัสในระบบของบริษัท คือ ให้เป็นรางวัลแก่ผลงาน หรือความตั้งใจในการทำงานมาตลอด 1 ปี ผลของเงินแต๊ะเอียที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือจะได้นำเงินแต๊ะเอียไปใช้จ่ายในช่วงวันเที่ยวนั่นเอง ช่วงวันถือหรือวันเที่ยวนี้บรรยากาศทั่วไปภายในเมืองนครสวรรค์จึงเป็นช่วงที่สงบ มีความรู้สึกถึงแต่สิ่งดีๆ เกือบทุกครอบครัวได้ต้อนรับญาติพี่น้องอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา พอมีเวลาว่างก็เล่นไพ่จีนบ้าง ไพ่ไทยบ้าง เป็นนัยว่าเพื่อเป็นการกระชับมิตรบ้าง ผู้ใหญ่ถือเป็นการเล่นเกมเพื่อหาเรื่องแจกเงินลูกหลานบ้าง ไม่เกี่ยวกับพวกที่เล่นได้เสียกันมากๆพวกนี้ถือว่าผิดเจตนารม

พอถึงวัน “ชิวซา” คือวันที่สามนับตั้งแต่วันตรุษจีนคือวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2544 ในเวลากลางคืนก็จะมีขบวนแห่ประเพณี แต่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ(แห่ตรุษจีน) โดยทำการแห่ไปตามถนนสายหลัก ๆ ในตัวเมือง เรียกว่าปิดเมืองเพื่อแห่เฉลิมฉลองกันทั้งเมือง ในคืนที่แห่นี้จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวมาชมปีละหลายแสนคน บรรยากาศเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองและขนวนแห่บางคณะ เช่น มังกรทองปากน้ำโพนั้น จะมีความตื่นตาจากการประดับไฟระยิบระยับดูสง่างาม พร้อมกับการแสดงที่ดุดัน ทำให้เกิดความประทับใจทุกครั้งที่ได้ชม แม้แต่ชาวนครสวรรค์เองที่เห็นกันทุกหนึ่งปีอยู่แล้ว ขนวบแห่อื่น ๆ ทั้งสิงโต เอ็งกอพ๊ะบู๊ ขนวนนางฟ้า ขบวนเจ้าแม่กวนอิม และอื่น ๆ ก็ดูตื่นตา ตื่นใจกับแสงสีในบรรยากาศยามค่ำคืน จนทำให้ผู้ที่ได้มีโอกาสมาร่วมเฉลิมฉลองทุกคนจะประทับใจไม่มีวันลืม การชมการแสดง นอกจากขบวนแห่จะเคลื่อนตัวไปตามถนนสายต่างๆแล้ว คณะแสดงต่างยังตั้งจุดแสดงตามสี่แยกบนถนนสวรรค์วิถี เช่นมังกรทองขึ้นเสา สิงโตปีนเสาเป็นต้น

พอรุ่งขึ้นในวันต่อมา เรียกว่าวัน "ชิวสี่"  คือวันที่สี่นับตั้งแต่วันตรุษจีนคือวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2544 ก็จะมีขบวนแห่ในเวลากลางวัน ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ใช้ผู้แสดงถึงพันกว่าคนขบวนแห่จึงยาวมาก ที่ใช้เวลาทั้งวันเพราะวันนี้ขบวนแห่จะแห่ไปตามเส้นทางมากกว่าที่แต่ในเวลากลางคืน เป็นการแห่ที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ เพราะประชาชน ร้านค้าในเขตเมืองนครสวรรค์ทั้งหมด ต่างพร้อมใจกันเรียกว่า “ปิดเมือง” แห่ฉลองกันเลยทีเดียว ในการชมการแสดง ขอแนะนำให้ท่านยืนชมจากจุดที่มีการตั้งโต๊ะไหว้เจ้า เพราะคณะที่แห่จะมาแสดงตรงหน้าโต๊ะที่จัดไหว้นั้น

หากท่านจะมาเที่ยวงานแห่ตรุษจีนปากน้ำโพ นครสวรรค์ ไม่ว่าจะเป็นปีไหนๆก็ตาม ถ้าท่านดูวันในปฎิทินแล้วพบว่าวันไหนเป็นวันตรุษจีน ให้นับวันไปสามวันนับตั้งแต่วันตรุษจีนจะเรียกว่าวัน”ชิวซา” คือวันที่มีขบวนแห่ในเวลากลางคืน และถ้านับต่อไปอีกหนึ่งวันจะเรียกว่าวัน”ชิวสี่” คือวันที่มีขบวนแห่ในเวลากลางวันทั้งวันนั่นเอง งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ หรืองานแห่ตรุษจีนปากน้ำโพ ที่นครสวรรค์นี้มีการจัดต่อกันมาเป็นประเพณีทุกปี จนถึงปัจจุบันก็เกือบเจ็ดสิบปีแล้ว

เมื่อจบงานแห่ในเวลากลางวันของในวันชิวสี่นี้แล้ว ร้านค้าต่าง ๆ ก็จะเปิดดำเนินการตามปกติ ด้วยความรู้สึกที่ได้รับวันพักผ่อน และความรู้สึกที่ดีอันเกิดจากการที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในประเพณีอันดีงามแล้ว ในปีใหม่ที่ได้ย่างก้าวมาถึงแล้วนี้ พวกเขาจะมีกำลังใจ มานะ อดทน เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จทั้งกิจกรรม ครอบครัว การค้าขาย เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันต่างๆเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับรายได้ชาติให้สูงขึ้น ๆ ต่อไป