ขบวนแห่ต่างๆ
ในงานตรุษจีน ปากน้ำโพ

การจัดขบวนแห่จะประกอบไปด้วยขบวนแห่ต่างๆ ดังนี้

    1. ขบวนธงมิตรภาพไทย-จีน
    2. เป็นขบวนสาวงามถือธงป้ายผ้า แต่งกายชุดไทย และชุดจีนเป็นคู่ๆ ผู้แสดง 12 คน

    3. ขบวนวงโยทวาธิต
    4. เป็นขบวนวงดุริยางค์นำขบวนแห่ มีผู้แสดงรวมประมาน 70-80 คน

    5. ขบวนเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ

เป็นขบวนเกี้ยวหามเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่หน้าผา เจ้าแม่ทับทิม เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่สวรรค์ และองค์อื่นๆที่ประดิษฐานที่ศาลเจ้าเทพารักษ์ และศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่หน้าผา ในขบวนจะมีสาวงามถืออาวุธและเครื่องยศเจ้า ตามแบบจีนโบราณ เรียกว่า ”ขบวนโหงวฮงกี่” พร้อมสาวงามถือธงต่างๆที่เป็นคำอวยพรเป็นภาษาจีน เรียกว่า ”ขบวนเขี่ยเปีย” มีผู้แสดงรวมประมาน 300 คน

                  4.     ขบวนล่อโก้ว

เป็นขบวนแสดงดนตรีจีนที่ใช้ในขบวนแห่งานต่างๆคล้ายกับขบวนแตรวงหรือกลองยาวของไทยมีสองคณะคือ

                   4.1 ขบวนล่อโก้วของ สมาคมส่งเสริมดนตรีจีน ปากน้ำโพ ผู้แสดงประมาน 140 คน

                          4.2 ขบวนล่อโก้วของ มูลนิธิ ปากน้ำโพประชานุเคราะห์ ผู้แสดงประมาน 110 คน

                    5.    ขบวนเด็กรำถ้วย

      เป็นศิลปะการร่ายรำของชาวจีนไหหลำที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ และมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีผู้แสดงประมาน 40 คน

                    6.     ขบวนรถนางฟ้า

      เป็นขบวนรถแห่ที่มีการประดับไฟ และตกแต่งอย่างสวยงาม จำนวนห้าคัน โดยในแต่ละปีจะคัดเลือกการแสดงต่างๆกันไป การแสดงจะเป็นศิลปะการร่ายรำแบบจีน เหมือนเหล่านางฟ้าในเทพนิยายออกมาร่ายรำ ด้วยท่วงทีที่อ่อนไหวราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์ มีผู้แสด งประมาน 100 คน

                    7.      ขบวนแห่ “เจ้าแม่กวนอิม”

      ตำนาน เจ้าแม่กวนอิม

      เจ้าแม่กวนอิมเดิมกำเนิดเป็นเจ้าหญิงชื่อ เจ้าหญิงเมี่ยวซันแห่งอาณาจักรซิงหลิน ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ในทะเลใต้แต่โบราณ ซึ่งปัจจุบันได้จมหายอยู่ใต้ทะเลลึกแล้ว

      เจ้าหญิงเมี่ยวซันมีนิสัยเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายตั้งแต่เด็ก มีพระทัยใฝ่ใจที่จะออกบวชเพื่อพ้นจากทุกข์ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่พระบิดาคือกษัตริย์เมี่ยวจวง ผู้มีจิตใจโหดร้ายชอบการเข่นฆ่าและทำสงครามไม่ยินยอม กลับบังคับให้เจ้าหญิงเมี่ยวซันเลือกคู่ครอง เจ้าหญิงเมี่ยวซันก็ยืนกรานที่จะออกบวช ไม่ว่าพระบิดาจะใช้อุบายต่าง ๆ นานามา หลอกล่อเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จึงเกิดพิโรธที่มีผู้มาขัดต่ออำนาจของตนจึงได้ประหารเจ้าหญิงเมี่ยวซันด้วยการตัดคอ ทันทีที่เจ้าหญิงเมี่ยวซัน สิ้นลม พระภูมิเจ้าที่ได้แปลงร่างเป็นเสือมารับร่างเจ้าหญิ่งไปอยู่ที่เกาะศักดิ์สิทธิ์แห่งทะเลตะวันออก ที่นั้นเจ้าหญิงเมี่ยวซันได้บำเพ็ญ ภาวนาจนบรรลุโพธิญาณรู้แจ้งในสัจจะธรรม ต่อมากษัตริย์เมี่ยวจวงได้เกิดเป็นโรคผิวหนัง เกิดแผลเน่าทั้งกายรักษาอย่างไรก็ไม่หาย เจ้าหญิงเมี่ยวซันได้ทราบด้วยญาณว่าพระบิดาป่วย ด้วยผลแห่งกรรมที่ทำมาและเห็นหนทางที่จะนำพระบิดาได้ก้าวพ้นทุกข์ได้จึงได้ให้หลวงจีนซันไฉ่ ไปอาสารักษาโรคโดยสละดวงตาและแขนทั้งสองข้างของตนเพื่อปรุงยา เมื่อกษัตริย์เมียวจงได้หายจากโรคจึงเริ่มสำนึกในบาปกรรมที่ตนได้ทำไว้ เลิกทำบาปหันมาสร้างกุศล ต่อมาได้สละราชสมบัติดั้นด้นเดินทางมาหาเซียนผู้เสียสละดวงตาและแขนเพื่อปรุงยา โดยไม่รู้ว่าเซียนผู้นั้นคือใคร เมื่อรู้ว่าเซียนผู้ที่อุทิศแขนและดวงตามารักษาตนนั้นคือเจ้าหญิงเมี่ยวซันธิดาผู้ที่ตนสั่งประหารชีวิตก็สะเทือนใจเกิดสำนึกในบาป บุญ คุณโทษ เกิดดวงตาเห็นธรรมด้วยบุญกุศลที่เจ้าหญิงเมี่ยวซันได้บำเพ็ญเพียร บันดาลให้ดวงตาและแขนทั้งสองที่สละไปแล้วกลับงอกขึ้นมาดังเดิม และนับแต่นั้นมาจ้าหญิงเมี่ยวซันก็ได้เป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม พระผู้ช่วยให้สัตว์รอดพ้นความทุกข์เดือนร้อน เป็นผู้ได้ปริเวทนาแห่งสัตว์โลก (อวโลกิเตศวร) และเป็นที่เคารพ กราบไหว้ สืบต่อกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

      การแสดง เจ้าแม่กวนอิม

      การแสดงจะใช้รถขบวนแห่ ที่ตามปกติจะทำการตกแต่งเป็นแท่นดอกบัว ประดับด้วยดอกไม้ แสงสี และเสียงดนตรีประกอบ อย่างวิจิตรงดงาม โดยมีผู้แสดงเป็นองสมมุติเจ้าแม่กวนอิม 1 คน เด็กชาย(ซิ่งท้ง) 1 คน และเด็กหญิง(เง็กนึ้ง) 1 คน ในส่วนของผู้แสดงเป็นองสมมุติเจ้าแม่กวนอิมนั้นในแต่ละปีจะทำการคัดเลือกโดยคณะกรรมการจัดงานเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ โดยจะทำการคัดเลือกจากหญิงสาวพรหมจรรย์ที่ถือศีลกินเจ และมีลักษณะที่ดีพร้อม มาจำนวนหนึ่ง แล้วทำการเสี่ยงทายโดย “ปั๊วปวย” ซึ่งมีลักษณะเป็นการโยนไม้สองซีก จึงถือว่าผู้ได้รับการคัดเลือก นี้ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าแม่แล้ว

                    8.    ขบวนแห่ “เอ็งกอ-พ๊ะบู๊”

      ตำนาน “เอ็งกอ-พ๊ะบู๊”

      เมื่อแปดร้อยปีมาแล้ว ราชอาณาจักรจีนในรัชสมัยพระเจ้าซ้องยินจงฮ่องเต้ เกิดโรคระบาดพรากชีวิตผู้คนไปเป็นอันมาก พระเจ้าซ้องยินจงฮ่องเต้ทรงโปรดให้อังซินขุนนางตำแหน่งไทอวยเดินทางไปอัญเชิญนักพรตผู้วิเศษ “เตียฮีเจ็งเชียนชือ” ณ สำนักวัดเขาเกาเล่งซัวมาช่วย หลังจากบรรลุหน้าที่แล้ว ระหว่างทางขากลับอังซินผ่านตำหนักเก๋งแห่งหนึ่งสลักชื่อไว้ว่า “ตำหนักขังปีศาจ” ด้วยความกระหายใคร่รู้ จึงแกะยันต์ที่ติดอยู่หน้าเก๋งทิ้ง และเปิดเข้าไปโดยพลการ ทันใดนั้นเองก็มีควันดำพวยพลุ่งออกทางประตูขึ้นลอยอยู่บนอากาศ แล้วแตกกระจายแยกย้ายกันไปทั้งแปดทิศ ที่แท้ ในเก๋งขังดวงจิตดาวทหารที่ดุร้ายถึงร้อยแปดคน ชื่อดาว “เทียมกังแซ” สามสิบหก ชื่อดาว “ตีลัว” อีกเจ็ดสิบสอง รวมร้อยแปดดวง ถูกขังมิให้ไปเกิด เนื่องจากกลัวจะรบกวนไพร่ฟ้าประชาชนพลเมืองให้ได้รับความเดือดร้อน วิญญาณดุร้ายทั้งร้อยแปดดวงจึงได้โอกาสไปจุติเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งเขาเหลียงซาน”

      หลังจากพระเจ้าซ้องยินจงสวรรคตแล้ว การเมืองการปกครองเริ่มเสื่อมทรามลงทุกที ในราชสำนักและวงการขุนนางมีแต่ขุนนางขี้ฉ้อ อำมาตย์มารกดขี่ข่มเหงราษฎร สังคมก็ปั่นป่วนวุ่นวาย มือใครยาวสาวได้สาวเอา เหล่านักบู๊ผู้เทอดทูนคุณธรรมยิ่งชีวิตต่างถูกบีบคั้นถูกกลั่นแกล้ง เหลืออดเหลือทนในที่สุดจึงต้องรวมตัวกัน รวบรวมเอาเหล่านักบู๊ ผู้เลิศวิทยายุทธทั้ง 108 คน เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหรียงซาน ทำการก่อกบฎ ปล้นของหลวงปล้นคหบดีเศรษฐีมีทรัพย์นำมาแจกจ่ายคนจนคนทุกข์ ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนขยายตัวเป็นสงครามระหว่างกองโจรกับกองทหารหลวง

      ตำนาน “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหรียงซาน” ใช้เค้าโครงจากวรรณคดีจีน เรื่อง”ซ้องกั๋ง” ซึ่งเป็นวรรณคดีร้อยแก้วที่มีลักษณะเป็นการเล่าเรื่อง มีพื้นฐานจากการสร้างสรรค์ของบรรดาศิลปินนักเล่านิทานทั้งหลาย ต่อมา “ซือไน่อาน” ได้เรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวยืดยาวมีรสมีชาติยิ่งนัก แต่ซือไน่อานเขียนไว้เพียงเจ็ดสิบบท ต่อมา “หลังกว้านจง” ลูกศิษย์ของซือไน่อานจึงเรียบเรียงเขียนต่อจนจบสมบรูณ์ หลัวกว้านจงคือผู้รจนานิยายเรื่องสามก๊กอันลือชื่อนั่นเอง “ซ้องกั๋ง” เรื่องนี้จึงถือได้ว่าเป็นฝีมือครู เป็นแบบอย่างของสามก๊กอีกทีหนึ่ง

      นักรบ ๑๐๘ คนจากเขาเนี่ยซัวเปาะ ตามตำนานระบุมีมาในยุคปลายสมัยซ่ง ประมาณ ๖๐๐ ปีแล้ว นักรบทั่ง ๑๐๘ ดำรงตนอยู่ได้ด้วยการปล้นสดมภ์เอาทรัพย์สินจากคนรวย ที่ร่ำรวยมาจากการคดโรงรีดนาทาเร้น เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ หลังจากที่ปล้นมาได้แล้วจะนำไปแจกให้กับคนจนโดยใช้เขาเนี่ยซัวเปาะ เป็นที่ซ่องสุมผู้คน ฝึกอาวุธ และสะสมเสบียงอาหาร นักรบต่างมี่วิชาความสามารถเก่งกาจกันคนละอย่างสองอย่าง ทั่งการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ไม้พลอง มีด การดำน้ำ การเดินป่าทางไกล การรักษาโรค ฯลฯ

      การแสดง “เอ็งกอ-พ๊ะบู๊”

      การละเล่นเอ็งกอ เป็นตอนที่ขบวนนักรบ ๑๐๘ คน ที่ต่างมี่วิชาความสามารถเก่งกาจกันคนละอย่างสองอย่าง ทั่งการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ไม้พลอง มีด การดำน้ำ การเดินป่าทางไกล การรักษาโรค ฯลฯ แต่งหน้าอำพรางตนเป็นนักแสดงขี่ม้าเข้าเมือง เพื่อไปช่วยซ้องกั๋ง หัวหน้าของพวกตน การเขียนหน้าเพื่อปกปิดหน้าตาและทำให้ดูน่าเกรงขามของเอ็งกอ มีการเขียนลวดลายเฉพาะคน เหมือนการสวมหน้ากาก ทั้ง ๑๐๘ คน เหมือนกับการสวมหัวโขนของไทย ในการแสดงไม่ว่าขบวนแห่เอ็งกอจะผ่านไปทางไหนจะสร้างความตื่นเต้น และความประทับใจในการแสดงนี้ไปทั่ว อันเกิดจากความเร้าใจจากเสียงตีไม้คู่ของขบวนผู้แสดงที่วิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว ส่วน “พ๊ะบู๊” เป็นการแสดงการต่อสู้ด้วยอาวุธจีนโบราณ มักจะเป็นขบวนคู่แฝดของเอ็งกอในการแห่เจ้า ขบวนเอ็งกอ – พ๊ะบู๊ ของนครสวรรค์ ริเริ่มเล่นโดยนาย คอซัว แซ่เตีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ และได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

                    9.    ขบวนแห่ ”สิงโตปักกิ่ง”

      ประวัติ ”สิงโตปักกิ่ง”

      สิงโตปักกิ่งของนครสวรรค์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ในสมัย มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำเหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยคณะกรรมการจัดงานแห่เจ้าฯ ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้ชมการแสดงสิงโตปักกิ่ง ของคณะกายกรรมกวางเจาที่มาจัดแสดงในประเทศไทย จึงคิดนำมาร่วมขบวนแห่เจ้าด้วย จึงได้จัดหาอาจารย์มาฝึกสอนโดยเชิญอาจารย์ที่มีความชำนาญการแสดงศิลปะการแสดงต่าง ๆ จากฮ่องกงชื่ออาจารย์ลิ้ม อู้จั๊ว มาฝึกสอนเป็นเวลา ๓ ปี ปัจจุบันคณะสิงโตปักกิ่งนครสวรรค์มีแสดง ๖๐ คน

      การแสดง ”สิงโตปักกิ่ง”

      สิงโตปักกิ่ง เป็นศิลปะการเล่นสิงโตของจีนภาคเหนือ เป็นสิงโตพ่อ แม่ ลูก ๔ ตัว เต้นหยอกล้อลูกแก้ว มีลีลาสวยงามน่ารัก ท่าที่แสดงออกเป็นไปอย่างสนุกสนาน และร่าเริง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสิงโตปักกิ่ง ผู้ที่ชมการแสดงอย่างใกล้ชิดอาจได้ร่วมกันรับความรู้สึกจากการแสดงโดยตรงเมื่อสิงโตปักกิ่งมาคลอเคลียด้วย ผู้ชมจึงได้รับความหลากหลายที่แตกต่างจากสิงโตอื่นๆที่ส่วนใหญ่จะแสดงออกในแบบแข็งแรงดุดัน ในการแสดงจะมีการแสดงของกายกรรมเช่น กระโดดสูง ตีลังกาลอดบ่วง ตีธงผืนใหญ่ ควบคู่กับการแสดงสิงโตด้วย

                    10.    ขบวนแห่ “สิงโตกว๋องสิว (กวางตุ้ง)”

      โดย สมาคม กว๋องสิว นครสวรรค์

      ตำนาน “สิงโตกว๋องสิว”

      มีตำนานเล่าขานกันว่า ในสมัยราชวงศ์ชิง พระเจ้าเคี่ยนหลงกุ๋น หรือจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ขณะเสด็จออกท้องพระโรงให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้า ปรากฏว่าท้องฟ้าเกิดมืดสลัวลง และปรากฏสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายสุนัขตัวใหญ่ขนปุกปุยลอยมาทางทิศตะวันออก ในขณะที่เสียงมโหรีประโคมกึกก้อง สัตว์ประหลาดตัวนั้นมาหยุดลงที่หน้าพระที่นั่งแล้วหมอบลงก้มศีรษะ ๓ ครั้งแล้วก็ลอยหายไปทางทิศเหนือ

      ขุนนางผู้เฒ่าคนหนึ่งได้กราบทูลว่าสัตว์ตัวนี้กอปรด้วยลักษณะอันเยี่ยมยอดยากที่สามัญชนจะพบเห็นได้นอกจากผู้มีบุญญาธิการเท่านี้น และที่สัตว์ตัวนี้ปรากฏขึ้นก็เพื่อถวายพระพรนั่นเอง ทำให้พระเจ้าเคี่ยนหลงกุ๋นทรงพอพระทัยยิ่งนัก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้คิดทำสัญญลักษณ์ของการคารวะต่อผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เพื่อให้เกิดมงคลแก่ผู้รับการคารวะ และได้กระทำสืบเนื่องต่อกันมา

      หลายคนสงสัยว่าแล้ว “หัวเซียน” “แป๊ะยิ้ม” ที่เห็นคู่กับสิงโตเสมอ นี้มีความเป็นมาและเกี่ยวพันกับการเชิดสิงโตอย่างไร คนรุ่นเก่าชาวจีนเล่าให้ฟังว่า มีที่มาจากเทพนิยายเรื่อง “แปดเซียน” ตอนที่แปดเซียนเดินทางไปอวยพรวันเกิดอ๊วงบ๊อ บนสวรรค์ ขณะที่ผ่านทะเลต้งไฮ้ ปรากฏว่ามีสัตว์ประหลาดโผล่มาจากทะเลชาวจีนเรียกว่า “สี่ปุ๊กเสียว” แปลว่าไม่เหมือนสี่แบบ คือรูปร่างเหมือนม้าแต่ไม่ไช่ม้ามีเกล็ดคล้ายปลาแต่ไม่ใช่ปลามีหางเหมือนโคแต่ไม่ใช่โค คล้ายศีรษะเหมือนมังกรแต่ไม่ใช่มังกร คราวนั้น “แน่ไซฮัว” เซียนจิ๋วที่มีรูปร่างคล้ายผู้หญิงทำผมแกละ มีกระเช้าดอกไม้ประกอบด้วยดอกเบญจมาศดอกไหนกิ่งไผ่ และใบไผ่เป็นอาวุธ และด้วยความเป็นเด็กจึงเข้าไปแหย่เจ้าสัตว์ประหลาดให้ติดตามเพื่อที่จะนำไปถวายอ๊วงบ๊อ ซึ่งเป็นเซียนสูงสุด ส่วนหัวเซียนในประเทศไทยช่างผู้ประดิษฐ์หัวหุ่นเห็นว่าสร้างยากจึงดัดแปลงเป็น “แป๊ะโล้นหน้ายิ้ม” แต่ยังคงถือพัดเหมือนเดิม

      ความหมายของสีที่หัวสิงโต มี ๔ สี

      ๑. สิงโตสีเขียวหนวดดำ เรียกว่า “ต่ายก๊ง” หมายถึง “เล่าปี่” ใช้เป็นสัญลักษณ์หมายถึง ความมีอำนาจหยิ่งในศักดิ์ศรี มีข้าทาสบริวารมาก

      ๒. สิงโตสีแดงหนวดดำ เรียกว่า “หยี่ก๊ง” หมายถึง “กวนอู” ใช้เป็นสัญลักษณ์หมายถึง ความซื่อสัตยกล้าหาญ โชคลาภ นักต่อสู้

      ๓. สิงโตสีดำ เรียกว่า “ซามก๊ง” หมายถึง “เตียวหุย” เป้าบุ้นจิ้น ใช้เป็นสัญลักษณ์หมายถึง ความหนักแน่นยุติธรรมเอาชนะอุปสรรค

      ๔. สิงโตหัวสีเหลือง เรียกว่า “เซก๊ง” หมายถึง “กวนเพ้ง”(หลานกวนอู) ใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอำนาจยศศํกดิ์

      สิงโตที่เชิดกันในเมืองไทย นิยมใช้หัวสิงโตกวางตุ้งชนิดสีแดง อันเป็นสัญลักษณ์ที่อวยพร ให้มีโชคลาภ ความสมบูรณ์พูนสุขตลอดจนความสงบสุขนั่นเอง

      ประวัติ “สิงโตกว๋องสิว”

      สมาคมกว๋องสิว นครสวรรค์เป็นสมาคมที่รวบรวมชาวกวางตุ้งในนครสวรรค์ให้เป็นกลุ่มที่ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน มีอายุกว่า 100 ปี จากคำเล่าต่อ ๆ กันมาของผู้อาวุโสอาปักเซ้ก แซ่เหลี่ยง (ร้านเซี๊ยะล้ง)เล่าว่าตอนนี้อาปักอายุเกือบ 100 ปี ท่านมาประเทศไทยตอนอายุ 10 กว่าปี รู้ว่าชาวกวางตุ้งในนครสวรรค์เล่นสิงโตมาก่อนท่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว แสดงว่า ชาวกวางตุ้งในนครสวรรค์เล่นสิงโตมานานกว่า 80 ปี ในสมัยก่อนใช้เวลาในการเล่นสิงโตถึง 2 วันเต็ม ๆ แห่จากตลาดปากน้ำโพไปเหนือสุดที่วัดไทรย์ ทางตะวันออกไปถึงแควใหญ่ ทางใต้แห่ไปถึงตลาดใต้ เราจะแห่ไปอวยพรปีใหม่กับชาวกวางตุ้งด้วยกันและชาวตลาดปากน้ำโพแล้วเราจะอวยพรแต่ละบ้านว่า “ไต่กั๊ด ไต่หลี่ ฟัดฉ่อย สุ่นหลี” แปลว่า ขอให้ท่านร่ำรวยทำมาค้าขึ้น ต่อมาเมื่อ 70 กว่าปีย้อนหลังเกิดโรคระบาดจึงมีการเชิญเจ้าพ่อเทพารักษ์แห่รอบตลาดเพื่อปัดเป่าโรคร้ายให้หมดไป ต่อมาจึงค่อยๆ มีขบวนต่าง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ สมาคมกว่องสิวมีการบริหารที่เป็นเอกเทศไม่ได้ขึ้นกับคณะกรรมการเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ แต่ประการใด แต่เดิมงบประมาณที่ใช้จ่ายในการแห่ต่าง ๆ ได้จากเงินที่เรี่ยไรจากชาวกวางตุ้ง ต่อมาเมื่อประมาณปี พศ.2535 จึงได้รับการสนันสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการจัดงานเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ กิจกรรมที่นอกจากการช่วยเหลือกันในหมู่ชาวกวางตุ้งแล้ว ยังมีกิจกรรมหลักอีกอย่างหนึ่ง คือการแห่สิงโตในขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปากน้ำโพทุกปี โดยนำหัวสิงโตร่วมขบวนแห่ด้วย 4 – 5 หัวทุกปี

      การแสดง “สิงโตกว๋องสิว”

      ก่อนที่จะนำสิงโตออกแห่ได้นั้นจะมีพิธีเปิดตา (ไหว้ครู) ในวันช้อซาม (ชิวซา) ในปี พ.ศ.2544นี้ จะตรงกับวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2544 จะจัดให้มีเครื่องเซ่นไหว้ และไก่เป็น 1 ตัว เพื่อบูชาครูอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาการเต้นสิงโตให้ ในวันนั้นผู้ทำพิธีจะเป็นชาวกวางตุ้งที่อาวุโสที่สุด ผู้เล่นทุกคนจุต้องจุดธูปคนละ 3 ดอก เพื่อบอกกล่าวกับครูอาจารย์ทุกท่าน อาทิ เจ้าพ่อกวนอู อาจารย์กู๋หลู เป็นต้น หัวสิงโตใหม่ทั้งหมด นำมาวางไว้หน้าโต๊ะเซ่นไหว้ เมื่อธูปไหม้ได้กว่าจึงครึ่งเริ่มตีกลองโหมโรงสักพักผู้แสดงเริ่มเข้าเล่นโดยเริ่มจากสิงโตค่อย ๆ ตื่นนอนจนกระทั่งเต้นไปเจอไก่เป็น ก็จะคาบนำมาให้ผู้อาวุโสท่านนั้น โดยผู้อาวุโสจะเชือดหงอนไก่เพื่อนำเลือดจากหงอนมาผสมกับสีแดงและเหล้าขาว หลังจากนั้นก็จะอธิฐานขอให้การแสดงคลาดแคล้วและปลอดภัย จึงนำเลือดไก่มาเจิมตา 2 ข้าง จมูก 2 ข้าง ปาก หน้าผาก หลังไปจนถึงหางสิงโต จะทำดังนี้ทุกหัว แล้วก็จะนำเซียนหัวใหม่มาทำพิธีเจิมหน้าผากหลังจากเสร็จพิธีแล้ว ทุกคนจะต้องเข้าเต้นในวันนั้นถือว่าเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนจะแสดงในวันช้อเซ (ชิวสี่) ปีนี้ตรงกับวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2544 การแสดงเริ่มจากการแสดงต่อตัว 2 ชั้น 3 ชั้น 4 ชั้น 5 ชั้น ยันกำแพง 4 ชั้น ต่อ 4 ชั้นบนไม้กระบอก ต่อ 2 ชั้นหงายหลัง การเชิดสิงโตกว๋องสิวของนครสวรรค์ มีท่าเต้นที่ถ่ายทอดมาจากอาจารย์เช่น สิงโตตื่นนอน สิงโตกินผัก สิงโตกินส้ม สิงโตเล่นพรหมสี่หน้า สิงโตกินมะพร้าว สิงโตขึ้นเขา สิงโตปีนเสา ทุกท่วงท่ามีลีลาการเต้นที่งดงาม มีความกลมกลืนอย่างต่อเนื่อง เป็นผลงานที่ทำให้สิงโตกว๋องสิวของนครสวรรค์ได้รับรางวัลจากการแข่งขันเชิดสิงโตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

                    11.    ขบวนแห่ “สิงโตทองฮากกา”

      โดยสมาคาฮากกา นครสวรรค์

      ตำนาน “สิงโตทองฮากกา”

      สิงโตทองฮากกาซึ่งคุ้นเคยกับการเรียกว่า “สิงโตจีนแคะ” นั้น มีประวัติอันยาวนาน เป็นศิลปะการแสดงที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวฮากกาที่อยู่ในประเทศจีน ตามตำนานที่เล่าขานกันมาแต่โบราณในกาลครั้งหนึ่งในแผ่นดินจีน เกิดภัยพิบัติฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลติดต่อกันหลายปี ยังความแห้งแล้งโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอาณาประชาราษฎร์เดือดร้อนแสนสาหัส องค์ฮ่องเต้จึงให้โหรหลวงตรวจดูโชคชะตาเมืองว่า มีเหตุเพทภัยอันใดและจะแก้ไขอย่างไร โหรหลวงจึงทูลวิธีการแก้ไขโดยให้หาคนไปจับสิงโตมาแห่รอบเมืองหลวงเพื่อจะขับไล่สิ่งชั่วร้าย และเหตุเพทภัยให้หายไป องค์ฮ่องเต้จึงให้ประกาศหาผู้ที่จะรับอาสาไปจับสิงโตซึ่งต้องไปจับถึงชมพูทวีป การเดินทางต้องรอนแรมไปในป่าเขาลำเนาไพร ต้องผจญกับสิงห์สาราสัตว์ ภูตผีปีศาจร้ายต่าง ๆ จึงไม่มีใครอาสาที่จะไปจับ ร้อนถึงองค์เง็กเซียน (ประมุขเซียน) จึงส่งซ่าเซียนลงมารับอาสาที่จะไปจับให้ โดยนำเอาหญ้าอาวัฒนะ (เหล่งจือเช่า) กับพัดของเจ้าแม่กวนอิมลงมาด้วย เมื่อเดินทางถึงชมพูทวีปแล้ว พบสิงโตตัวหนึ่ง ขนสีทอง ท่วงทีองอาจ อ้วนพี ลักษณะดีมาก เห็นแล้วชอบใจจึงสยบสิงโตด้วยพัดของเจ้าแม่กวนอิม เมือสิงโตสงบแล้วก็ตรวจลักษณะโดยละเอียด มีลักษณะมงคล มีความยาวถึงสามวา ชอบใจเป็นอันมาก จึงหลอกล่อให้สิงโตกินหญ้าอายุวัฒนะซึ่งเสกมนต์กำกับไว้แล้ว เมื่อสิงโตกินหญ้าเข้าไปแล้ว จึงอยู่ในอำนาจของซาเซียน ยอมให้นำไปถวายองค์ฮ่องเต้แต่โดยดี ฮ่องเต้จึงจัดงานเฉลิมฉลองแห่สิงโตไปทั่วเมืองหลวง เหตุเพทภัยสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ก็หมดสิ้นไป ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหาร ก็กลับอุมดสมบูรณ์ อาณาประชาราษฎร์ก็อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บโดยทั่วหน้ากัน

      สิงโตทาองฮากกา เป็นสิงโตจำลองมาจากสิงโตจริงไม่มีเขา จะเห็นว่าที่คอจะมีขนคอยาวเหมือนสิงโตตัวผู้ รูปหน้าที่ทำขึ้นเป็นเป็นศิลปพื้นบ้านโบราณที่เรายังคงเอกลักษณ์ของเก่านี้เอาไว้

      ประวัติ “ชาวฮากกา”

      แผ่นดินในประเทศจีน พลเมือง 1200 ล้าน ประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ เช่น ชาวฮั้น แมนจู อิสลาม ธิเบต แม้ว และชนเผ่าน้อยต่าง ๆ เป็นชาวฮั้น 90% ถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ภาคกลางของจีน ระหว่างแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) กับแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นชนชั้นที่มีวัฒนธรรมสูงสมัยโบราณ ข้าศึกของจีนจะมาภาคเหนือ และภาคตะวันตกจักรพรรดิ์ฉินซีฮ่องแต้จึงสร้างกำแพงเมืองจีนปิดกั้นการรุกรานข้าศึก ตลอดประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปีของจีน ยุคใด สมัยใดที่ประเทศอ่อนแอไส้ศึกสามารถผ่านกำแพงเมืองจีน บุกเข้ามาทางภาคเหนือของจีนได้จนประทั่งฮวงโห (แม่น้ำเหลือง) ประชาชนจีนที่ไม่ยอมสยบ กับก้มหัวให้ศัตรู พากันอพยพล่องใต้มาหาถิ่นที่อยู่ใหม่ สร้างอนาคตใหม่ เป็นแขกที่มาใหม่ในสายตาของชาวพื้นเมืองคำแต้จิ๋วที่เรียกว่า “จีนแคะ” และคำทั่วไปที่เรียกว่า “ฮากกา” ก็คือ “แขก” หรือ “ผู้ที่มาเยือน” นั่นเอง

      ในประวัติศาสตร์ของจีน การอพยพใหญ่ของชาวฮั้นแบบนี้มีถึง 5 ครั้ง เส้นสายการเคลื่อนย้ายค่อย ๆ จากเหนือล่องใต้ และขยับขยายไปถึงตะวันตกจากมณฑลเหยหนาน เหยเปย (ปักกิ่ง) ล่องใต้มาถึงมณฑลฮกเกี้ยน, กวางสี, แยกไปตะวันตกถึงเจียงซี กุ๊ยจิว จนกระทั่งเสฉวนแผ่บริเวณกว้าง ชาวฮั้นพวกนี้กลายเป็นชาวฮากกา

      เนื่องจากชาวฮากกาเป็นชนที่มาที่หลังพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีคนอยู่ก่อนแล้ว เช่นกวางตุ้ง ลุ่มแม่น้ำจูเจียงอย่างกวางเจามีชาวมีชาวกวางสิวอยู่ก่อนแล้ว ลุ่มแม่น้ำหานเจียง อย่างซัวเถา แต้จิ๋วอยู่ก่อนแล้ว ชาวฮากกาได้แต่ไปอยู่อาศัยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกวางตุ้ง เช่น หม่อยจู่ ไท้พู เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ราบสูง เต็มไปด้วยภูเขา ผืนนามีน้อยการทำมาหากินลำบากประกอบด้วยสายตาอันไม่เป็นมิตรของชาวพื้นเมืองเพื่อความอยู่รอด ชาวฮากกาจึงมีความขยันขันแข็ง หมั่นเพียร อดทนต่อสิ่งที่เผชิญ พยายามสร้างสรรค์ โดยเฉพาะชายหญิงของฮากกาเสมอภาคเคียงคู่เคียงไหล่ร่วมกันต่อสู้เพื่อชีวิต ผู้ชายออกนอกบ้านทำมาหากิน (ถึงกับโพ้นทะเลไปต่างประเทศ) ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกทำนา ไม่มีเปลี่ยนใจ กระนั้นชาวฮากกายังรักษาวัฒนธรรมสูงอย่างดั้งเดิม

      ชาวฮากกาได้แพร่หลายไปทั่วโลกทุกทวีป ทุกประเทศในอาเชี่ยน โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเลในอินโดนีเซีย 80% เป็นชาวฮากกา การสำรวจใหม่พบว่า ชาวฮากกาทั่วโลกรวมทั่งในประเทศจีน มีกว่าร้อยล้านแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่อันดับ 3 ในชาวฮั้นทั้งหมด

      ประวัติ “สิงโตทองฮากกา”

      สิงโตฮากกามาไทยมีน้อยเนื่องจากผู้ที่นำเข้าจะต้องเป็น “กังฟู” จึงนำเข้าได้ยาก สิงโตฮากกานครสวรรค์ได้ก่อตั้ง และฝึกซ้อมโดยอาจารย์ปู่ยี่เจินปั๊ก สานต่อโดยอาจารย์หล่อซินแหม่น (บุตรอาจารย์ปู่) และอาจารย์เฉินเซ้าคุณ แต่ทั้ง ๓ ท่านก็สิ้นบุญไปแล้ว ปัจจุบันปัญหาสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยนไป จึงทำให้การฝึกซ้อมทำได้ไม่เต็มที่

      ใต้ร่มโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัว ชาวฮากกาในเมืองไทยได้อยู่เย็นเป็นสุข ลูกหลานก็เป็นชาวไทยเชื้อสายฮากกาไปหมดแล้ว สิงโตทองฮากกาในเมืองไทยที่เหลืออยู่ตัวเดียวในนครสวรรค์นี้ ก็เป็นมรดกของพี่น้องชาวไทยด้วยกัน พี่น้องชาวไทยได้ร่วมกิจกรรมของคณะสิงโตทองฮากการ่วมกันฝึกซ้อม ร่วมกันแสดง ร่วมกันอนุรักษ์ให้ลูกหลานได้ชื่นชม ร่วมกันพัฒนาให้รุ่งเรืองและยั่งยืนตลอดไป

      การแสดง “สิงโตทองฮากกา”

      การเชิดสิงโตฮากกาให้ถูกต้องสวยงามนั้น เป็นการฝึกซ้อมที่ค่อนข้างยากเพราะเป็นการเชิดที่เลียนแบบของสิงโตเจ้าป่า ผสมกับวิชา “กังฟู” ผู้เชิดจะต้องก้าวเท้าด้วยความหนักแน่น มั่นคงดุจการก้าวย่างของพญาราชสีห์ซึ่งต้องใช้การฝึกซ้อมอย่างหนัก

      ในเมืองจีน คณะสิงโตฮากกาจะเป็นคณะที่เป็น “กังฟู” ทุกคนในคณะจะเป็นมวยหรือใช้อาวุธอย่างหนึ่งอย่างใดในอาวุธ ๑๘ ชนิด ของบู้ลิ้มจีนได้ สอดคล้องกับการอพยพมาต่างถิ่นที่จะต้องพร้อมต่อสู้ และเผชิญทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด ผู้เล่นหัวสิงโตจะสามารถใช้ปากคาบหัวสิงโตกระโดดข้ามโต๊ะไหว้เจ้าสี่เหลี่ยมที่เรียงตามกัน ๓ โต๊ะ ๕ โต๊ะ จนกระทั่ง ๗ โต๊ะได้ การแสดงสิงโตฮากกาจะเป็นชุดใหญ่

      นอกจากเชิดสิงโตลีลาอัดงดงามแล้ว ยังแสดงสิงโตกระโดดข้ามโต๊ะ ผลัดกันแสดง “กังฟู” และแล่นอาวุธต่าง ๆ ให้ชมด้วย

                     12.    ขบวนแห่ “เสือไหหลำ”

      ตำนาน “เสือไหหลำ”

      เล่าสืบกันมาว่า ณ หมู่บ้านของอำเภอบุ้นเซีองในหมู่เกาะไหหลำ มีศาลเจ้าซึ่งเป็นที่ประดิษฐ์รูปจำลองของ “เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง” ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น และที่บริเวณใกล้กับศาลเจ้าเป็นที่อยู่ของเสือตัวหนึ่งซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ “เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง” เลี้ยงไว้ ซึ่งโดยปกติเสือตัวนี้จะเป็นสัตว์ที่ไม่เคยทำอันตรายแก่ผู้ใด จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง มีเด็กชายซึ่งเป็นบุตรชายของหญิงในหมู่บ้านนั้น ด้วยความซุกซนจึงได้แหย่เสือตัวนี้ซึงกำลังหลับอยู่ เสือตัวนี้จึงได้ตื่นขึ้นมาด้วยความโกรธ จึงคำรามลั่นและมุ่งตรงเข้าทำร้ายเด็ก และได้กลืนเด็กลงท้องไป เรื่องรู้ถึงแม่ของเด็กก็ตกใจจึงได้ออกตามผู้กล้าทั้งหลายในหมู่บ้านให้มาช่วยเหลือลูกของตน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ แม่ของเด็กก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ความล่วงรู้ถึง “เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง” ด้วยทิพย์ญาณที่เสือได้กลืนเอาเด็กลงท้อง จึงมีบัญชาให้พระภูมิเจ้าที่ ๒ องค์มาช่วยชีวิตเด็ก ดังนั้นพระภูมิเจ้าที่ทั้ง ๒ องค์จึงได้ปรากฏกายมาสยบเสือและได้ช่วยให้เสือยอมคายเด็กออกมาโดยปลอดภัย

      “เสือ” ตามความเชื่อถือของชาวจีนไหหลำ เป็นสัญลักษณ์ของ “เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง” หรือที่ชาวไทยรู้จักกันดี คือ “เจ้าพ่อเทพารักษ์” เสือเป็นเสมือนสัตว์ที่คอยเบิกทางก่อนที่เทพเจ้าบ้วนเถ่ากงจะเสด็จ คอยปกป้องภยันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามมาย่างกราย ดังนั้นชาวไหหลำซึ่งนับถือเทพเจ้าบ้วนเถ่ากง จึงนำเสือมาเป็นสัญลักษณ์ใช้เชิดในเทศกาลและงานพิธีมงคลต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองและครอบครัวประสบแต่โชคดี และนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล

      การแสดง “เสือไหหลำ”

      ดังนั้นชาวจีนไหหลำจึงได้นำตำนานเรื่องนี้ มาเป็นการแสดงในตอนหนึ่งของการเชิดเสือ และเมื่อชาวจีนไหหลำได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่ชุมชนปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีของการเชิดเสือเข้ามาเผยแพร่ให้ลูกหลานชนรุ่นหลังได้สืบทอดวัฒนธรรมการเชิดเสือยจนแพร่หลาย และได้อัญเชิญ “เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง” มาประดิษฐานเพื่อสักการะบูชา ซึ่งปัจจุบันองค์จำลองของ “เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง” หรือ “เทพเจ้าเทพารักษ์” ได้ประดิษฐานรวมกับ “เจ้าพ่อกวนอู”

      “เจ้าแม่ทับทิม” “เจ้าแม่สวรรค์” ณ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิม แควใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดปากน้ำโพ หรือที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา

                    13.    ขบวนแห่ “มังกรทอง”

ตำนาน “มังกรทอง”

มังกรเป็นสัตว์ในจินตนาการของคนจีนโบราณที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ เมื่อครั้งก่อนพุทธกาล ในยุคก่อนก่อตั้งประเทศจีนขึ้น ดินแดนแถบนี้จะมีการแบ่งเป็นเผ่าต่าง ๆ และดำเนินการปกครองตนเองโดยมีวัฒธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกัน แต่ละเผ่าจะมีการใช้สัญลักษณ์ประจำเผ่าที่เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก ปลา วัว หมี กวาง และอื่นๆ

จวบจนกระทั่งต่อมา ได้มีนำรบผู้เก่งกาจนผู้หนึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าซึ่งมีสัญลักษณ์ประจำเผ่าเป็นรูปหมี ซื่อ กงซุนซวนหยวน ได้รบชนะเผ่าต่าง ๆ และรวบรวมดินแดนบริเวณแห่งนี้ขึ้นเป็นปึกแผ่น จัดการปกครองให้อยู่ภายใต้อาณัติการปกครองของเขาได้สำเร็จ การรบพุ่งกินดินแดนตั้งแต่บริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโหและบริเวณใกล้เคียง ถึงบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง “นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นการก่อตั้งประเทศจีนขึ้นเป็นครั้งแรก และยกย่องให้ กงซุนซวนหยวน เป็นบรมปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จีน ขนานนามว่า…อึ้งตี่ แปลว่า “จักรพรรดิเหลือง”

ในการปกครองเผ่าต่าง ๆ ทั้งหลาย เพื่อให้ทุกเผ่าเกิดความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาณาจักรใหม่แห่งนี้ อึ้งตี่องค์จักรพรรดิจึงดำริให้มีการคิดสัญลักษณ์ประจำอาณาจักรใหม่แห่งนี้ขี้น เป็นลายมังกรเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยการนำสัญลักษณ์ประจำเผ่าต่าง ๆ หลาย ๆ เผ่ามารวมกัน เป็นการใช้จิตวิทยาให้ทุกเผ่ารู้สึกมีส่วนร่วม และเกิดความรู้สึกใหม่ ๆ ว่าบัดนี้เราเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

สัญลักษณ์ที่นำมาผสมรวมเข้าด้วยกันแล้วสร้างเป็นรูปสัตว์ตัวใหม่ขึ้น เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของการรวมเผ่านั้น ได้รับการขนานนามว่า “เล้งหรือมังกร” ซึ่งแต่ละส่วนของสัญลักษณ์เดิมที่นำมารวมกัน คือ เขากวาง หัววัว ตัวงู เกล็ดปลา และ เท้าเหยี่ยว หลังจากนั้น ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาลายกันไปเรื่อย ๆ จนเป็นลายที่สวยงามและลงตัวอย่างทุกวันนี้

นอกจากนั้น สัญลักษณ์มังกรยังมีความหมายแตกต่างกันไปในรายระเอียดบางจุด เช่น ถ้าเป็นมังกร ๔ เล็บ แสดงว่าเป็นมังกรธรรมดา เป็นเครื่องหมายประกอบยศของพวกเจ้าชั้นที่สาม ชั้นที่สี่หรือขุนนางเท่านั้น แต่ถ้าเป็นมังกร ๕ เล็บ แสดงว่าเป็นมังกรจักรพรรดิ ใช้เป็นเครื่องหมายของพระราชวงศ์ที่เป็นเจ้าชั้นสูงสุดเท่านั้น มังกร ๕ เล็บนั้นกล่าวกันว่า เล็บทั่งห้าไม่ได้เรียงกันแบบธรรมดา เล็บที่ห้าจะวางอยู่ตรงกลางบริเวณฝ่าเท้า ส่วนการประดับประดาตกแต่งมักใช้มังกรชนิด ๓ เล็บ และทางญี่ปุ่นนิยมใช้มังกรชนิดที่มี ๓ เล็บมากกว่าอย่างอื่น

ยังมีตำนานเกี่ยวกับมังกรที่เล่าขานมานานอีกมากมาย อาทิ บางตำนานกล่าวว่า มังกรจะอาศัยอยู่กลางทะเลลึกซึ่งอุดมไปด้วยไข่มุกและพลอย มังกรจะชอบเล่นน้ำมาก เวลาหายใจมักจะพ่นไฟออกมาด้วย บางตำนานเล่าว่ามังกรเป็นเทพเคียงข้างพระโพธิสัตว์ มีอิทธิฤทธิ์ เหาะเหิน ลุยน้ำ ลุยไฟได้ และเป็นอมตะด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งลูกแก้วที่คาบไว้ จนวันหนึ่งลูกแก้วได้หลุดจากปากมังกรไป มังกรจึงต้องตามหาลูกแก้วกลับคืนมา เพื่อรักษาความเป็นอมตะไว้ ซึ่งเป็นที่มาของการแสดงเชิดมังกรพร้อมการล่อแก้วในทุกวันนี้

มังกรของจีนนอกจากจะมีเขาแล้ว ตัวผู้ยังมีหนวดมีเคราอีกด้วยบางท่านเล่าว่า เขาของมังกรงอกช้ามากนต้องใช้เวลาถึง ๕๐๐ ปี เขาจึงจะงอกและเมื่องอกแล้วก็ใช่ว่าจะยาวเกะกะเหมือนเขากวางหรือก็ไม่งอกเป็นขายาวยื่นออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านี้น และถ้ามีอายุเจริญมากขึ้นอีก ๕๐๐ ปี เป็น ๑๐๐๐ ปี ก็จะมีปีกเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่า มังกรมีการแบ่งหน้าที่การทำงานเป็น ๔ พวกด้วยกัน

พวกแรกเป็นมังกรที่อยู่บนฟ้า เรียกว่ามังกรกลางหาว มีหน้าที่รักษาวิมานเทวดา และค้ำจุนวิมานเหล่านี้ไว้

พวกที่สอง เรียกว่า มักกรสวรรค์ มีหน้าที่ให้ลม ให้ฝน

พวกที่สาม เรียกว่า มักรพิภพหรือโลกบาล พวกนี้จะรักษาแม่น้ำ ลำธาร

พวกที่สี่ เรียกว่า มังกรเฝ้าทรัพย์ มีหน้าที่เฝ้าขุนทรัพย์ของแผ่นดิน

 ประวัติ “มังกรทอง” (เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ)

มังกรทองของชาวจีน เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ แสดงถึงความมีอำนาจ ความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรือง ความมีภูมิปัญญา และความดีงาม ดังนั้นจึงถือเป็นสัตว์ที่เป็นมงคล ถ้าได้พบเห็น หรือเยี่ยมกรายผ่านบ้านใคร ถือได้ว่าเหมือนได้รับพรจากมังกร ต่อมาจัดให้มีการแห่แหนมังกรในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ถ้ามองอีกแง่หนึ่งมังกรเป็นผู้ให้น้ำแก่โลกมนุษย์ (ตามตำนาน) ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้เกดความอุดมสมบูรณ์ จึงอาจถือได้ว่ามังกรเป็นผู้ที่นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ก็ได้ และในปีมังกรทองปี พ.ศ.2543-2544 ที่นับตามปีปฎิทินจีนแล้วนับว่าเป็นปีมังกรทองที่แท้จริง (จะเป็นปีมังกรธาตุทอง ทุกรอบหกสิบปี) ซึ่งถือว่าเป็นปีมหามงคลอย่างยิ่ง

การแห่มังกร ของชาวปากน้ำโพได้เริมขึ้นในสมัย นายหม่งแจ๋ แซ่เล้าเป็นประธานจัดงานในปี พ.ศ.๒๔๐๖–๒๕๐๗ ได้มีความคิดที่จะจัดขบวนแห่ให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิมโดยได้ปรึกษา นายเป็งไฮ้ แซ่ตั้ง และ นายติ้งลิ้ม แซ่เอ็ง ไปติดต่อให้อาจารย์ เล่งจุ้ย แซ่ลิ้ม เป็นครูสอน และมีนาย ตงฮั่ง แซ่ตั้งเป็นผู้ทำ-หัวมังกรตัวแรก ซึ่งได้ใช้จนถึงปี ๒๕๓๕ ปัจจุบันได้จำลองแบบออกมาเป็นหัวมังกรที่มีความงดงามมาก คณะมังกรทองเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพจึงได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นคณะแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2506 นั้นเอง

การแสดง “มังกรทอง”

มังกรทองเจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพมีลีลาการเชิดที่เข้มแข็ง สง่างาม มีความสมดุลในสัดส่วน และความงดงาม โดยเฉพาะในเวลากลางคืนมีไฟประดังแพรวพราวไปทั้งตัว ด้วยลำตัวที่ยาว ๕๒ เมตร และผู้เล่น ๑๘๐ คน รูปแบบการแสดงนอกจากจะมีการเชิดมังกรในท่าต่างๆแล้ว ยังมีการแสดงมังกรขึ้นเสา มังกรพ่นไฟ มังกรพ่นน้ำ และการแสดงมังกรเล่นน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพิเศษอีกด้วย ทำให้ผู้ขมสามารถสัมผัสถึงพลังแห่งอำนาจแห่งพญามังกรได้อย่างประทับใจไม่รู่ลืม ลีลาการเชิดมังกรทองนี้ เป็นลีลาเฉพาะตัวที่แตกต่างจากที่มีการเชิดมังกรในประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น และถือได้ว่าเป็นเจ้าตำรับการเชิดมังกรในประเทศไทยที่เป็นขีดสุดของความเร้าใจเป็นที่เลื่องลือไปทั่วเอเชีย จนมีการลอกแบบทั้งลักษณะมังกร และรูปแบบการแสดง โดยไปต้งเป็นคณะแสดงมังกรขึ้นหลายคณะทั้งที่มีอยู่ในประเทศไทย และต่างประเทศ