ประวัติความเป็นมา
งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ตรุษจีน ปากน้ำโพ

          

          เริ่มมีการแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปากน้ำโพเกิดขึ้นหลังจากโรคห่า (อหิวาตกโรค) และฝีดาษระบาดเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2460 –2462 ชาวปากน้ำโพ ได้รับความเดือดร้อนมีผู้คนล้มตายและเจ็บป่วย เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ว่าวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ทำให้ชาวบ้านหันไปพึ่งหมอจีน (ซินแส) เพื่อช่วยรักษาโรค แต่ไม่สามารถหยุดโรคระบาดได้ ชาวบ้านจึงหันไปหาที่พึ่งจากเทพอารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายและมีเหตุบังเอิญ ได้มีชาวบ้านบนบานต่อเจ้าพ่อเทพารักษ์ หรือปุนเถ้ากง เพื่อขอให้ปัดเป่าโรคร้ายไปจากหมู่บ้านและได้ทำการเชิญเจ้ามาเข้าทรง เพื่อทำพิธีรักษาโรคด้วยการเขียน “ฮู้” กระดาษยันต์ และนำไปเผาใส่น้ำดื่มกิน ปรากฏว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ โรคร้ายที่ได้ดับชีวิตคนในหมู่บ้านได้หยุดการระบาดลงผู้คนปราศจากโรคภัย จนเป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเทพารักษ์

ดังนั้นชาวปากน้ำโพ จึงได้ร่วมกันอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มาแห่รอบตลาด เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัวตั้งแต่นั้นมา

“งานประเพณีแห่ เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปากน้ำโพ” ในสมัยเริ่มแรกนั้นมีวัตถุประสงค์ในการที่จะนำองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ แห่ไปในเส้นทางต่าง ๆ ในเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและเป็นการปัดเป่าทุกข์ภัย เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่เมือง และชาวเมืองปากน้ำโพ โดยมีการแสดงในขบวนแห่บ้าง เช่น สิงโต ล่อโก้ว ฯ แต่ด้วยเหตุที่การจัดให้มีงานแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ นี้อยู่ในช่วงของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นบรรยากาศในช่วงของการเฉลิมฉลอง ดังนั้นจึงมีการจัดขบวนแสดงต่างๆลงไปในขบวนแห่ ในแนวของตำนานต่างๆ เช่น การแสดงตำนานพระถังซำจั๋ง เจ้าแม่กวนอิมฯ ซึ่งในเวลาต่อมาจึงได้มีขบวนแห่ที่ประสมประสานทั้งการแห่องค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ และการแสดงต่าง ๆ ให้เกิดเป็นความรู้สึกทั้งความเป็นสิริมงคล และการเฉลิมฉลองปีใหม่ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนจัดให้มีการไหว้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนอยู่แล้ว

ในปัจจุบันองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ที่นำมาร่วมในขบวนแห่ ที่เรียกว่า “เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ” หมายถึงองค์เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ และเทพเจ้าต่าง ๆ ที่อยู่ในศาลเจ้า 2 แห่ง คือ

  1. ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา ตั้งอยู่บนถนนโกสีย์ด้านเหนือ ริมแม่น้ำปิง ในบริเวณที่เรียกว่าหน้าผา ประกอบด้วย
    1. เจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา หรือ “ปึงเถ่ากง-ปึงเถ่าม่า” หรือ “เปิ่นโถวกง-เปิ่นโถวมา” ในภาษาไหหลำ
    2. เจ้าพ่อกวนอู หรือ “กวงกง”
    3. เจ้าแม่สวรรค์ หรือ “เทียนโหวเซี้ยบ้อ“ หรือ “หม่าโจ้ว” หรือ “เทียนโหวเซิ่งหมู่” ในภาษาไหหลำ หรือ“หม่าจู่” ในภาษาฮกเกี้ยน
    4. ใช้ซิ่งเอี้ย หรือ “ไฉ่เส้นเหย” ในภาษาไหหลำ
  2. ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลแควใหญ่ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองนครสวรรค์ ประกอบด้วย
    1. เจ้าพ่อเทพารักษ์ หรือ “ปึงเถ่ากง”
    2. เจ้าพ่อกวนอู
    3. เจ้าแม่ทับทิม หรือ “จุยป๊วยเนี้ย” หรือ “ตุยโป๊ยเหนี่ยว หรือตุยป้วยเต๋งเหนี่ยง” ในภาษาไหหลำ
    4. เจ้าแม่สวรรค์

 

ประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา  

          นั้นมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีตายาย คู่หนึ่งได้ฝันเห็นว่ามีหญิงชรา ผมยาวเนื้อตัวเปียกปอนมาบอกว่าลอยน้ำมาจากอยุธยาถึงนครสวรรค์หนาวมากขอให้เอาขึ้นจากน้ำทีเถอะ พอรุ่งเช้าจึงได้ไปริมแม่น้ำซึ่งมีลักษณะเป็นบริเวณน้ำวน ที่นั่นมีหน้าผาค่อนข้างสูงชัน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “หน้าผา” ได้พบไม้จันทร์ดำขนาดกว้าง 1 ฟุต สูง 2 ฟุต แกะเป็นรูปเจ้าแม่ติดอยู่ซอกหินรวมกับไม้ที่แกะเป็นรูปอื่น ๆ ได้อัญเชิญขึ้นมาพร้อมกัน และได้สร้างศาลไม้เล็ก ๆ ไว้บริเวณริมแม่น้ำ

ต่อมา เถ้าแก่ง่วนเซ้ง เจ้าของโรงแรมง่วนเซ้ง และเจ้าของโรงไม้ขายกระดาน ได้ฝันว่ามีหญิงชรา ผมยาว มาขอให้ไปช่วยสร้างศาลให้ท่านเถ้าแก่ง่วนเซ้งฝันถึงเช่นนี้ 3 วัน จึงได้ไปบอกกับนายคุงเคี้ยม ให้ช่วยเดินทางหาเจ้าแม่ที่มาเข้าฝันวันแรก และวันที่สอง เดินทางหาเลียบตามแม่น้ำขึ้นไปทางเหนือ เริ่มตั้งแต่ตรอกวิศวกรไทย (ปัจจุบันอยู่หน้าวัดนครสวรรค์) ขึ้นไปจนถึงบริเวณหน้าผาได้เห็นศาลไม้เล็ก ๆ ที่ได้สร้างไว้ชั่วคราว ที่ริมแม่น้ำ จึงได้ขอที่ดินชาวบ้านแถวนั้นสร้างเป็นศาลเจ้าให้ท่าน (บริเวณที่เป็นศาลเจ้าปัจจุบัน) และได้พัฒนามาเรื่อย ๆ จนเป็นศาลใหญ่

เจ้าแม่หน้าผา มีชื่อเดิมเรียกว่า เจ้าแม่ทองสุข หรือเจ้าแม่ลำดวนมีผู้คนทั่วไปนับถือ แม้แต่ลาวโซ่งก็เรียกว่า “เจ้าแม่ทองดำ” เนื่องจากรูปเจ้าแม่เดิมนั้นใช้ไม้จันทร์ดำแกะสลัก เชื่อว่าเจ้าแม่ชอบกินหมาก ปัจจุบันได้ปั้นรูปเจ้าแม่และเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นแบบจีน และรู้จักกันในนาม “เจ้าแม่หน้าผา”

ประวัติความเป็นมาศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ 

        ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์นั้นเป็นศาลเก่าของชาวจีนนครสวรรค์ไม่ปรากฎหลักเกณฑ์ในการสร้าง แต่มีหลักฐานที่สามารถจะบอกอายุของศาลแห่งนี้ได้ คือ “ระฆัง” ที่อยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้รอบ ๆ ตัวระฆังเขียนด้วยภาษาจีนโดย “นายหงเปียว แซ่ผู่” ได้นำมาจากตำบลแม่จิว อำเภอปุ้นเชียง เกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาถวายไว้ที่ศาลเจ้าเทพารักษ์ เพื่อเป็นระฆังประจำศาล ประมาณปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ.1870) (ข้อมูลจากแผ่นป้ายประกาศภายในศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์) และมีเรื่องเล่ากันว่า เดิมมีศาลเจ้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน (แควใหญ่) มีอยู่ด้วยกัน 2 ศาล เป็นศาลเจ้าพ่อกวนอู และศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มีลักษณะเป็นศาลเล็ก ๆ อยู่บริเวณใกล้กัน สันนิษฐานว่าตัวศาลคงผุผัง ชาวปากน้ำโพจึงได้ร่วมกันตั้งศาลขึ้นมาใหม่ มีชื่อว่า “ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์”

          ในช่วงการจัดงานเทศกาลตรุษจีน คณะกรรมการจัดงานจะตั้งศาลเจ้าชั่วคราว จำนวนสองศาลไว้ที่บริเวณถนนริมแม่น้ำ(ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา) ศาลแรกเรียกว่าศาลเหนือตั้งบนถนนอรรถกวี บริเวณข้างธนาคารกรุงไทย สาขานครสวรรค์ โดยอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ จากศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา มาประจำที่ศาลเจ้าชั่วคราวนี้ ศาลที่สองเรียกว่าศาลใต้  ตั้งบนถนนริมแม่น้ำซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ และจะอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ จากศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มาประจำที่ศาลเจ้าชั่วคราวนี้ การตั้งศาลเจ้าชั่วคราวในตำแหน่งกลางเมืองนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการมาสักการะเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ และเป็นการจัดงานฉลองเทศกาลตรุษจีนอีกด้วย

เทศกาลตรุษจีนหรือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีน เป็นวันที่ 1 เดือน 1 ของจีน สำหรับปีนี้วันตรุษจีนตรงกับ วันที่ 24 มกราคม 2544 (วันที่ 1 เดือน 1 ของจีน)

พอถึงเทศกาลตรุษจีน ตามบ้านต่าง ๆ จะทำการไหว้เจ้าของตนเอง เพื่อเป็นการส่งเจ้าที่เรากราบไหว้ขึ้นสวรรค์ พอใกล้ ๆ จะสิ้นปี ชาวจีนจะนิยมทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เรียกว่าล้างบ้าน พอวันที่ 22 มกราคม 2544 (วันที่ 29 เดือน 12 ของจีน) เป็นวันจ่าย (คือวันก่อนสิ้นปี 1 วัน) จะต้องเตรียมซื้อข้าวของต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อจะเอาไว้ไหว้ วันที่ 23 มกราคม 2544 (วันที่ 30 เดือน 12 ของจีน) เป็นวันไหว้ ในวันนี้ตอนเช้าจะมีการไหว้เจ้าตามด้วยการไหว้บรรพบุรุษในตอนสาย แล้วไหว้ผีไม่มีญาติในตอนบ่าย วันที่ 24 มกราคม 2544 (วนที่ 1 เดือน 1 ของจีน) เป็นวันชิวอิด หรือวันถือ คือในวันนี้ทุกคนจะพูดและทำแต่สิ่งที่มงคล วันถือนี้บางคนก็เรียก วันเที่ยว ในวันนี้ในบ้านทุกคนจะไม่มีการทำงาน จะเป็นการสร้างสรรค์ สมาชิกในครอบครัว มีการขอพรจากผู้ใหญ่ และขอพรซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่ก็จะมีการแจก อังเปา (แต๊ะเอีย) ให้กับเด็ก ๆ

ดังนั้นในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ปี 43-44 จึงกำหนดงานตรุษจีนตั้งแต่วันที่ 17-28 มกราคม 2544 (วันที่ 24 เดือน12 – วันที่ 5 เดือน 1 ของจีน) โดยมีการสร้างศาลจำลองขึ้น 2 ศาล คือศาลเจ้าพ่อเทพรักษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรอกท่าเรือจ้าง กับศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ข้างธนาคารกรุงไทย